18 พฤศจิกายน 2024
โครงการหลวง-รฟท.-มจธ. คิกออฟ ขนส่งผักผลไม้เมืองเหนือลงใต้ ต่อยอดวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น รักษาผลผลิต ขยายสู่โลจิสติกส์ทางราง ลดต้นทุน ลดมลภาวะ กระจายสินค้าเกษตรทั่วประเทศ
เศรษฐกิจ

โครงการหลวง-รฟท.-มจธ. คิกออฟ ขนส่งผักผลไม้เมืองเหนือลงใต้ ต่อยอดวิจัยตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น รักษาผลผลิต ขยายสู่โลจิสติกส์ทางราง ลดต้นทุน ลดมลภาวะ กระจายสินค้าเกษตรทั่วประเทศ

มูลนิธิโครงการหลวง จับมือ การรถไฟแห่งประเทศไทย และ ศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ มจธ. คิกออฟ ขนส่งผักผลไม้เมืองเหนือ ด้วยรถไฟขบวนแรก หลังศึกษาคุณสมบัติตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น นานร่วม 2 ปี พบว่าสามารถรักษาคุณภาพผลผลิตได้นานนับเดือน ก่อนขยายผลสู่การทดสอบเฟส 2 โดยศึกษาการรักษาคุณภาพผลผลิตระหว่างขนส่ง ใช้เวลาทดสอบ 4 เดือน เพื่อวิจัยค้นหารูปแบบการขนส่ง-ปริมาณผลผลิตที่เหมาะสม ต้นทุนน้อยที่สุด และโอกาส เพิ่มช่องทางกระจายผลผลิตเกษตรให้กับเกษตรกรรายอื่นๆ และธุรกิจโลจิสติกส์ ด้าน รฟท. เตรียมต่อยอดโครงการวิจัยฯ สู่การขนส่งสินค้าเกษตรทางรางแบบยั่งยืน กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เชื่อมต่อต่างประเทศ ขณะเดียวกันการพัฒนาขนส่งทางรางยังลดการปล่อยก๊าซ ลดมลภาวะ สอดรับเศรษฐกิจหมุนเวียนตามนโยบายรัฐ

ดร.อัญชัญ ชมภูพวง ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวงเชียงใหม่ กล่าวว่า การขนส่งผักผลไม้จากโครงการหลวง ด้วยรถไฟขบวนแรก ในวันที่ 25 มกราคม 2567 เป็นการวิจัยต่อเนื่องจากการทดสอบตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นที่ทดสอบแบบสถิต หรือ ตั้งอยู่กับ สู่การทดสอบแบบเคลื่อนที่ เนื่องจากผลการทดสอบด้วยการตั้งอยู่กับที่ได้ผลการวิจัยที่ชี้ชัดว่า ตู้คอนเทนเนอร์ฯ สามารถรักษาคุณภาพและสารอาหารได้ยาวนาน แม้เก็บรักษาไว้นานกว่า 1 เดือน แต่ทั้งนี้ต้องวิจัยต่อ เพื่อศึกษาว่าตู้คอนเทนเนอร์เมื่อใช้ระหว่างขนส่งจะสามารถรักษาคุณภาพของผลผลิตได้อยู่หรือไม่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มทดสอบตู้คอนเทนเนอร์ในรถไฟขบวนแรก โดยจะใช้ระยะเวลาทดสอบ 4 เดือน เดือนละ 1 เที่ยว

“ผลการศึกษาแบบสถิต หรือตั้งอยู่กับที่ ซึ่งทดสอบกันร่วม 2 ปี ได้ผลลัพธ์ที่ชี้ชัดว่าตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น สามารถเก็บรักษาผลผลิต โดยรักษาคุณภาพภายนอก และสารอาหารได้สดใหม่ได้นานนับเดือน เช่น ฟักทอง สามารถเก็บรักษาได้นานกว่า 1 เดือน ต่างจากห้องเย็นอื่นๆ ที่เคยใช้ก่อนหน้านี้ แต่ก็ต้องศึกษาต่อว่าเมื่อนำมาใช้ในการขนส่ง ที่มีการเคลื่อนที่ประสิทธิภาพจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ หากการวิจัยครั้งนี้สำเร็จ ผักและผลไม้จากภาคเหนือจะยังคงคุณภาพสดใหม่จนถึงมือผู้บริโภคภาคใต้ ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการกระจายสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าที่เน่าเสียง่าย อย่างผักผลไม้ ให้ไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ในประเทศได้ง่ายขึ้น เพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรภาคเหนือ ขณะเดียวกันก็เพิ่มโอกาสให้กับเกษตรกรภาคใต้ด้วย หากมีการขนส่งผลิตผลจากภาคใต้กลับขึ้นมาจำหน่ายที่ภาคเหนือด้วยเช่นกัน” ดร.อัญชัญ เสริม

ด้าน ผศ.ดร.กานดา บุญโสธรสถิตย์ หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) อธิบายถึงการศึกษาด้านโลจิสติกส์ของโครงการนี้ว่า รถไฟขบวนแรกที่ขนผักผลไม้ในครั้งนี้จะขนผลิตผลจากโครงการหลวงไปที่สถานีรถไฟจังหวัดลำพูน และขนส่งโดยรถไฟไปยังสถานีรถไฟบางกล่ำ จังหวัดสงขลา ซึ่งใช้ระยะเวลาในการขนส่ง 3 วัน หากไม่เกิดความล่าช้าระหว่างขนส่ง ทีมวิจัยจะศึกษาความสามารถในการรักษาคุณภาพผลผลิตระหว่างขนส่ง โดยติดตั้งเซนเซอร์ภายใต้ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็น เพื่อดูผลแบบเรียลไทม์ตามตำแหน่ง GPS ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ, ความชื้นสัมพัทธ์, ความเร็วลมเย็น, แรงสั่นสะเทือน, การปล่อยก๊าซเอทิลีนระหว่างทาง และผักผลไม้บอบช้ำจากการขนส่งหรือไม่ ทั้งนี้จากผลการวิจัยเบื้องต้น ตู้คอนเทนเนอร์ห้องเย็นมีประสิทธิภาพในการควบคุมอุณหภูมิเข้าใกล้ 0 องศาเซลเซียล ด้วยความชื้นสัมพัทธ์สูงถึง 95-98% ได้อย่างสม่ำเสมอ แต่ความท้าทายคือแรงสั่นสะเทือนระหว่างขนส่งจะมีการยกตู้คอนเทนเนอร์ขึ้น-ลง และแรงสั่นสะเทือนระหว่างเดินทาง ต้องศึกษาต่อว่าปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อคุณภาพสินค้าหรือไม่

“นอกจากคุณภาพของผลผลิต สิ่งที่สำคัญอีกเรื่องคือ กระบวนการโลจิสติกส์ที่จะต้องออกแบบที่ทำให้ต้นทุนโดยรวมถูกที่สุด และเกิดประโยชน์ต่อทั้งซัพพลายเชนมากที่สุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การขนส่งผักและผลไม้ด้วยรถไฟประสบความสำเร็จและขยายผลอย่างยั่งยืนได้ โดยสิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นคือการสร้างโครงข่ายการขนส่งไป-กลับ (Backhauling) คือ เมื่อขนส่งผลผลิตจากภาคเหนือไปถึงภาคใต้แล้ว ก็จะต้องขนสินค้าจากภาคใต้กลับมาที่ภาคเหนือ กระบวนการนี้จะช่วยให้ต้นทุนถูกลงได้มาก และเกิดการกระจายสินค้าระหว่างภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทีมวิจัยฯ ได้ประสานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) (สทร.), กรมส่งเสริมสหกรณ์, ผู้ให้บริการขนส่งรูปแบบต่างๆ จากภาคเอกชน เป็นต้น เพื่อผลักดันให้การขนส่ง Backhauling เกิดขึ้น” หัวหน้าศูนย์วิจัยนวัตกรรมโลจิสติกส์ กล่าว

คุณกนกวรรณ สุวรรณกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสินค้า การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า ผู้ผลิตจะสามารถเคลื่อนย้ายสินค้าได้ในขนาดที่ใหญ่ขึ้น หากมีสินค้าปริมาณมาก เช่น สินค้าเกษตรที่ออกผลผลิตพร้อมกันเยอะๆ บางทีการขนส่งที่ไปได้แค่ทีละรถบรรทุก อาจไม่ตอบโจทย์กับปริมาณการขนส่งออกมามาก ซึ่งก็จะไปเป็นการเพิ่มต้นทุนในการเก็บรักษา แต่หากเกษตรกรสามารถผลักออกไปได้ในปริมาณเยอะในครั้งเดียว เช่น ใช้การขนส่งทางราง ก็จะทำให้ได้ประโยชน์ตรงนี้ ลดต้นทุนการ สต๊อก ผลผลิตไปถึงผู้บริโภคได้เร็วขึ้น ในส่วนของผู้บริโภค ก็จะได้ของที่สดใหม่ และหากมีปริมาณเยอะ ราคาก็อาจจะถูกลง โดยต้นทุนในระบบรางถูกกว่าขนส่งรูปแบบอื่นๆ และหากมองในภาพเศรษฐกิจ ระบบรางช่วยลดอุบัติเหตุ รักษาสุขภาพของประชาชนจากมลภาวะทางอากาศ เป็นผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ลดคาร์บอน ที่สามารถตีค่ากลับมาเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นผลตอบแทนแฝงที่อยู่ในระบบราง

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา รวมถึงในอีก 10 ปีข้างหน้า รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาระบบรางหลายโครงการ เพราะเล็งเห็นว่าระบบรางจะช่วยให้ต้นทุนในการขนส่งถูกลง ได้ประโยชน์ในด้านคาร์บอนเครดิต ขณะที่ปัจจุบันรถไฟความเร็วสูงเชื่อมหลายๆ ภูมิภาค ทำให้เดินทางได้สะดวก รวดเร็วขึ้น ไม่เพียงในประเทศ ยังมีการเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เส้นทางภาคอีสานเชื่อมกับ สปป.ลาว และส่งต่อไปจีน เส้นทางภาคใต้เชื่อมต่อกับมาเลเซียและส่งต่อไปถึงสิงคโปร์ และล่าสุดพยายามจะเชื่อมต่อกับกัมพูชาให้ได้ การพัฒนาเหล่านี้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการขนส่งสินค้าของคนไทยอย่างมาก และหากขยายผลให้การขนส่งผลิตผลเกษตร เช่น ผักผลไม้ สามารถขนส่งทางรถไฟได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมคุณภาพผลผลิตยังสดใหม่ ยิ่งช่วยเพิ่มการกระจายสินค้าให้เกษตรกรไทยทั่วประเทศ และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ไม่ยาก”

ดร.อัญชัญ ชมภูพวง กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยนำเข้าผลผลิตเมืองหนาวจากต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากราคาไม่สูงนัก ขณะที่สินค้าเมืองหนาวในประเทศกลับมีส่วนแบ่งการตลาดน้อย เนื่องจากมีข้อจำกัดในการขนส่งและการกระจายสินค้า การขนส่งด้วยรถไฟจึงจะเข้ามามีบทบาทช่วยให้การกระจายสินค้าเกษตรไปแต่ละภูมิภาคง่ายขึ้น ต้นทุนถูกลง เพิ่มพื้นที่ให้สินค้าเมืองหนาวภาคในประเทศเข้าไปแข่งขันได้ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ม.ค. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ThaiSmartBiz

หวยงวดนี้ออก 17 ม.ค. 67 เปิดสถิติผลสลากงวด “วันครู” ย้อนหลัง 10 ปี

ThaiSmartBiz

กองสลากฯ เพิ่มสลากดิจิทัลงวดหน้าอีก1 ล้านใบ เปิด Sandbox ขายสลาก N3 กลางปี 67

ThaiSmartBiz