วันที่ 13 มกราคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปีมังกร นับจากต้นปีจนถึงวันที่ 12 ม.ค.2567 รวมวันทำการทั้งหมด 9 วัน พบว่าดัชนี SET ปรับตัวลดลงมา 19.85 จุด หรือ -1.38%
โดย SET ปิดการซื้อขายวันแรก (2 ม.ค.) อยู่ที่บริเวณ 1,433.38 จุด แต่ปิดการซื้อขาย (12 ม.ค.) อยู่ที่บริเวณ 1,413.53 จุด โดยวันที่ทำจุดต่ำสุด คือวันที่ 11 ม.ค. อยู่ที่ระดับ 1,408.24 จุด
สำหรับความเคลื่อนไหวของนักลงทุนต่างชาติ พบว่ายังคงขายสุทธิหุ้นไทย โดยขายไปรวมทั้งหมด 7 วันทำการ มูลค่า 6,325.87 ล้านบาท ประกอบด้วย
- วันที่ 3 ม.ค. ขายสุทธิ 978.99 ล้านบาท
- วันที่ 5 ม.ค. ขายสุทธิ 3,210.43 ล้านบาท
- วันที่ 8 ม.ค. ขายสุทธิ 319.91 ล้านบาท
- วันที่ 9 ม.ค. ขายสุทธิ 1,061.46 ล้านบาท
- วันที่ 10 ม.ค. ขายสุทธิ 1,807.05 ล้านบาท
- วันที่ 11 ม.ค. ขายสุทธิ 1,007.04 ล้านบาท
- วันที่ 12 ม.ค. ขายสุทธิ 67.30 ล้านบาท
นายภราดร เตียรณปราโมทย์ รองผู้อำนวยการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นสัญญาณการกลับมาซื้อหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค.2566 และผ่านมาช่วงสัปดาห์แรกของปี 2567 ยังเห็นเป็นภาพของการซื้อหุ้นไทยอยู่ เป็นโมเมนตัมที่ดี เพราะหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาค
แต่พอเข้าสู่ช่วงสัปดาห์ที่สอง เห็นปัจจัยลบภายในประเทศประเดประดังเข้ามาพอสมควร อาทิ
1.เงินเฟ้อไทยเดือน ธ.ค.2566 ติดลบ 0.83% เป็นระดับต่ำที่สุดในรอบ 34 เดือน ทำให้เกิดความกังวลว่าจีดีพีไตรมาส 4/2566 ออกมาจะต่ำกว่าคาดหรือไม่
2.ความกังวลหุ้นกู้ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ที่มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งจะเป็นเรื่องเดิมเมื่อปีที่แล้ว ที่เป็นปัจจัยกระทบความมั่นใจในการลงทุนให้ลดน้อยลง
3.ความแตกต่างกันระหว่างการดำเนินนโยบายการเงินกับนโยบายการคลัง เพราะภาครัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสจะคงดอกเบี้ยสูงในปีนี้
และ 4.มาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท มีความไม่แน่นอนว่าจะเกิดขึ้นได้หรือไม่
ทั้งนี้ 4 ปัจจัยข้างต้น เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่สองของปีนี้ ทำให้ฟันด์โฟลว์ที่เคยไหลเข้ามามีการสะดุดในช่วงสั้น ๆ
นายภราดร กล่าวต่อว่า สำหรับเทรนด์ฟันด์โฟลว์เชื่อว่ามีโอกาสที่จะพลิกกลับมาซื้อได้ เพราะว่านักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปมากเมื่อปีที่แล้ว อย่างน้อย ๆ ระดับ SET ที่บริเวณกว่า 1,400 จุด ต่ำลงมากว่า 200 จุดเมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2564 ที่อยู่บริเวณ 1,600 จุด สะท้อนตลาดหุ้นไทยราคาไม่แพง ระดับ P/E เหลือแค่กว่า 14 เท่า
ประกอบกับวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง และการดำเนินนโยบายการเงินที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับสหรัฐ โดยที่สหรัฐมีโอกาสจะลดดอกเบี้ยเร็วกว่า ตามคาดการณ์ของ bloomberg ซึ่งปัจจัยข้างต้นจะหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่า ทำให้นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในประเทศไทย มีโอกาสจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะเย้ายวนให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนหุ้นไทยมากขึ้น