18 พฤศจิกายน 2024
กกร.คงคาดการณ์ GDP ปี 67 โต 2.8-3.3% ไม่รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต หั่นเงินเฟ้อเหลือ 1.2% จาก 2.2%
เศรษฐกิจ

กกร.คงคาดการณ์ GDP ปี 67 โต 2.8-3.3% ไม่รวมผลดิจิทัลวอลเล็ต หั่นเงินเฟ้อเหลือ 1.2% จาก 2.2%

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยกรอบประมาณการเศรษฐกิจไทย ปี 2567

หมายเหตุ: ประมาณการ GDP ปี 2567 ยังไม่รวมผลของมาตรการ Digital Wallet

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุม กกร. เผย เศรษฐกิจไทยปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในกรอบประมาณการเดิมที่ 2.8-3.3% โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการ Easy E-Receipt และการฟื้นตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 33-34 ล้านคน ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จากนโยบายลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาล ส่งผลให้ประมาณการเงินเฟ้อปรับลดลง

เศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนมากขึ้น จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ได้นำไปสู่การโจมตีเรือสินค้าในบริเวณคลองสุเอซและทะเลแดง ทำให้ค่าระวางเรือเพิ่มสูงขึ้นกดดันต้นทุนการผลิต

ขณะที่สงครามรัสเซียและยูเครนยังไม่ยุติลง รวมถึงความไม่แน่นอนจากการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในหลายประเทศปีนี้ เช่น การเลือกตั้ง ประธานาธิบดีไต้หวัน รัสเซีย และสหรัฐฯ ปัจจัยความไม่แน่นอนเหล่านี้ ซ้ำเติมเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวและทำให้ต้องติดตามผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยที่พึ่งพาตลาดยุโรป ได้แก่ สินค้าเกษตรและอาหาร สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นายสนั่น กล่าวว่า ที่ประชุม กกร.มองว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ตามศักยภาพ แต่ศักยภาพมีแนวโน้มด้อยลง และยังฟื้นตัวไม่ทั่วถึงในรูปแบบ K-Shape ยังมีบางกลุ่มที่รายได้ไม่ฟื้นตัวและมีกำลังซื้ออ่อนแอ จึงจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพื่อช่วยเหลือผู้
ประกอบการในระดับกลางและระดับล่างทั้งนี้ รัฐบาลควรเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยในระหว่างรองบประมาณ ปี 67 ภาคเอกชนเห็นว่าควรจัดทำมาตรการเสริมกระตุ้นเศรษฐกิจ และควรมีการหารือกับรัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการนำงบประมาณลงทุนที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่แล้วเร่งใช้งานไปพลางก่อน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร.เห็นว่าควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนสินเชื่อในการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการที่มี
ความเสี่ยงสูง โดยรัฐบาลสนับสนุนทุนจัดตั้งในระยะแรกก่อน แล้วนำดอกเบี้ยหรือเงินได้มาบริหารหมุนเวียนในกองทุนให้ตรงตามวัตถุประสงค์ เพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยมีความยืดหยุ่นในการขอหลักประกันได้ สำหรับหนี้นอกระบบที่เป็นปัญหาของการเข้าถึงสินเชื่อ และเอาหนี้นอกระบบทางการค้าเข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนสูงได้
พร้อมมองว่า ในปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเป็นระดับสูงสุดแล้ว ในระยะข้างหน้าดอกเบี้ยควรปรับทิศทางทางให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศ และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่มีแนวโน้ม
ลดลงในปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจที่มีมากขึ้น จากทั้งในและนอกประเทศ ขณะที่เงินเฟ้อมีความผันผวนโดยมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่องในกรอบ 0.7-1.2%

สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือลดภาระต้นทุนทางการเงินให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง ณ ปัจจุบัน ยังมียอดภาระหนี้ที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลืออีกกว่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือมากกว่า 6.1 ล้านบัญชี และตั้งแต่สถานการณ์โควิดมีต้นทุนทางเครดิตที่เกิดขึ้นในระบบธนาคารพาณิชย์มูลค่ารวมกว่า 6 แสนล้านบาท หรือราว 6% ของสินเชื่อ และสถาบันการเงินจะยังคงให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือลูกค้าตรงกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

นายสนั่น กล่าวว่า ที่ประชุม กกร. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวางรากฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทย จึงเสนอประเด็นสำคัญ 3 ประการที่อยากให้รัฐบาลขับเคลื่อนในปี 2567 ดังนี้

1) สานต่อการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง 6 ด้านที่ กกร. เคยเสนอ ได้แก่ 1. Competitiveness 2. Ease of Doing Business 3. Digital Transformation 4. Human Development 5. SME 6. Sustainability เนื่องจากเศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาหลายปี และ/หรือมีศักยภาพลดลง สะท้อนจากมุมมองนักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ต่อศักยภาพและความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจไทย จาก Price to book ratio ของธุรกิจใน SET100 ปรับลดลงในปี 2566 ขณะที่กลุ่มธนาคารพาณิชย์มี Price to book ratio อยู่ในระดับต่ำกว่า 1 เท่ายาวนาน

ดังนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างจำเป็นต้องเร่งแก้ไข เช่น ด้าน Competitiveness ควรเร่งเจรจาข้อตกลงทางการค้า FTA ที่ดำเนินการอยู่ให้แล้วเสร็จ รวมถึงแก้ปัญหาน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน ด้าน Ease of Doing Business ควรปฏิรูปกฎหมายที่ล้าสมัยเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เป็นต้น

2) ผันเศรษฐกิจนอกระบบมาอยู่ในระบบ เศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีขนาดใหญ่เกินไป เป็นต้นตอของหลายปัญหา
โดยมีขนาดใหญ่ถึง 47.6% ต่อจีดีพี สูงกว่าประเทศคู่เทียบและมีแรงงานนอกระบบมากถึง 51% ของแรงงานทั้งหมด ขณะที่ยังขาดข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ขนาดของหนี้นอกระบบที่ข้อมูลทางการระบุว่ามีราว 1 แสนล้านบาท แต่หากประเมินด้วยวิธีอื่นอาจสูงถึงราว 3-4 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ IMF พบว่าการมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโตต่ำกว่าศักยภาพ เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ และมีความเหลื่อมล้ำสูง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ธปท. ดับฝัน ไม่มีประชุม กนง. นัดพิเศษ มองเงินเฟ้อติดลบไม่ใช่เงินฝืดเชื่อทั้งปีเข้ากรอบ

ThaiSmartBiz

น้ำมัน WTI ปิดบวก 65 เซนต์ คาดศก.สหรัฐ-จีนฟื้นตัวหนุนดีมานด์

ThaiSmartBiz

ค่าเงินบาทวันนี้ 16 ม.ค. 67 เปิดเช้านี้ที่ระดับ 35.00 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงเล็กน้อย

ThaiSmartBiz